ประวัติความเป็นมา
สถาบันจิตวิทยาความมั่นคง


Institute of Security Psychology

การปฏิบัติการจิตวิทยา หมายถึง การเผยแพร่ข่าวสาร ความคิดเห็น หลักนิยม และการทำกิจกรรมที่มีผลต่อเจตคติ และพฤติกรรมที่พึงประสงค์ต่อเป้าหมายเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของชาติ ซึ่งนานาประเทศต่างยอมรับและตระหนักถึงคุณค่าของการปฏิบัติการจิตวิทยาเป็นอย่างดี ดังจะเห็นได้จากการจัดตั้งหน่วยและเจ้าหน้าที่สำหรับดำเนินการด้านนี้อย่างจริงจัง เช่น ในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ รวมทั้งประเทศไทย โดยกองบัญชาการทหารสูงสุด (กรมเสนาธิการกลาโหมในขณะนั้น) ได้ริเริ่มจัดตั้งโรงเรียนสงครามจิตวิทยา เพื่อเปิดการศึกษาอบรมให้กับนายทหารผู้ซึ่งเกี่ยวข้องกับงานด้านนี้โดยเฉพาะขึ้นก่อนเป็นรุ่นแรก (รุ่นพิเศษ) เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๔๙๘ และสิ้นสุดลงในวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๔๙๘ ใช้เวลาศึกษาอบรมรวม ๒๓ วัน โดยมีความมุ่งหมายที่จะให้นายทหารที่จบการศึกษาไปแล้ว สามารถเตรียมการจัดตั้งหน่วยรับผิดชอบดำเนินงานด้านนี้โดยตรง จึงกำหนดให้วันเปิดการศึกษาครั้งแรกของหลักสูตร คือวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๔๙๘ เป็นวันสถาปนาหน่วย

กองบัญชาการทหารสูงสุด ได้มีนโยบายที่จะให้มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างต่อ เนื่องและมีประสิทธิผลจึงให้เปิดการศึกษาหลักสูตรนี้ต่อไป โดยมอบให้หัวหน้ากองการยุทธพิเศษ (เดิมชื่อกองสงครามจิตวิทยา) กรมยุทธการทหาร เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน รับผิดชอบต่อการดำเนินงานเปิดการศึกษาสำหรับนายทหารทุกเหล่าทัพ ตั้งแต่รุ่นที่ ๑ ถึงรุ่นที่ ๓ หลังจากนั้นคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้หน่วยราชการทุกกระทรวง ส่งข้าราชการ ชั้นผู้ใหญ่ระดับชั้นเอกขึ้นไป มารับการศึกษาร่วมกันทุกครั้งที่เปิดการศึกษา ตั้งแต่รุ่นที่ ๔ เป็นต้นมา และเมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๑ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเป็นหลักการถาวรให้ส่วนราชการต่างๆ ส่งข้าราชการเข้ารับการศึกษาในสถาบันจิตวิทยาความมั่นคง กองบัญชาการทหารสูงสุดได้ ในโอกาสที่เปิดการศึกษาหลักสูตรนี้ทุกครั้ง โดยไม่ต้องขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีอีกนับตั้งแต่รุ่นที่ ๒๖ เป็นต้นมาจนกระทั่งถึงรุ่นปัจจุบัน ฉะนั้นจึงนับได้ว่าโรงเรียนแห่งนี้เป็น โรงเรียนแห่งที่สองรองจากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ที่ได้รวมเอาข้าราชการทหาร ตำรวจ พลเรือน และพนักงานรัฐวิสาหกิจเข้ามาศึกษาร่วมกัน

ต่อมาการปฏิบัติการจิตวิทยา ได้มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการปฏิบัติการของฝ่ายเราและฝ่ายตรงข้าม ซึ่ง ต่างก็ใช้การปฏิบัติการจิตวิทยาอย่างกว้างขวางและได้ผลมาโดยลำดับ จึงจำเป็นที่จะต้องให้ข้าราชการระดับบริหารที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับงานทาง ด้านนี้เข้ารับการศึกษาอบรมให้มีความรู้ ความเข้าใจและมีขีดความสามารถในการตอบโต้และปฏิบัติการจิตวิทยาในเชิงรุกแก่ ฝ่ายตรงข้าม แต่เนื่องจากทางโรงเรียนสงครามจิตวิทยาไม่สามารถตอบสนองความต้องการของทางราชการได้อย่างเต็มที่เพราะการดำเนินงานกระทำได้ภายในขอบเขตจำกัด เนื่องจากไม่มีอัตราข้าราชการประจำของโรงเรียน ดังนั้นเพื่อให้สอดคล้องกับวิวัฒนาการทางด้านวิชาการ และความต้องการของสถานการณ์ในปัจจุบันทางราชการจึงได้พิจารณาจัดตั้ง “สถาบัน จิตวิทยาความมั่นคง” ขึ้นแทนโรงเรียนสงครามจิตวิทยา โดยกำหนดให้มีอัตราประจำที่ถาวรเป็นของสถาบันการศึกษาเองขึ้นตรงต่อ กรมยุทธการทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด ตั้งแต่วันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๒๑ และได้เปิดการศึกษาตั้งแต่ รุ่นที่ ๒๔ สืบต่อมา

จึงนับได้ว่าเป็นการศึกษารุ่นแรกของสถาบันจิตวิทยาความมั่นคง สืบต่อจากการเปิดการศึกษาของโรงเรียนสงครามจิตวิทยาที่ได้ดำเนินการไปแล้วใน อดีต ๒๓ รุ่น

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้มีคำสั่งกระทรวงกลาโหม (เฉพาะ) ที่ ๑๘๕/๒๕ ลงวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๒๕ และคำสั่งกองบัญชาการทหารสูงสุด (เฉพาะ) ที่ ๗๑/๒๕๒๖ ลงวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๒๖ ให้มอบการบังคับบัญชา “สถาบันจิตวิทยาความมั่นคง กรมยุทธการทหาร” ขึ้นกับ “สำนักงานสารนิเทศ สำนักผู้บัญชาการทหารสูงสุด กองบัญชาการทหารสูงสุด” โดยมีพิธีส่งและรับมอบการบังคับบัญชาระหว่าง เจ้ากรมยุทธการทหาร กับ ผู้อำนวยการสำนักงานสารนิเทศ เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๒๖ (ซึ่งเป็นห้วงระยะเวลาที่ข้าราชการนักศึกษาหลักสูตรการปฏิบัติการจิตวิทยาฝ่ายอำนวยการ รุ่นที่ ๓๗ กำลังศึกษา อยู่) ดังนั้นสถาบันจิตวิทยาความมั่นคงจึงเป็นหน่วยขึ้นตรงต่อ สำนักงานสารนิเทศ สำนักผู้บัญชาการทหารสูงสุด กองบัญชาการทหารสูงสุด นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๓๓ ได้มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการ และกำหนดหน้าที่ของส่วนราชการ กองบัญชาการทหารสูงสุด กระทรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๕๓๓ และ คำสั่งกระทรวงกลาโหม (เฉพาะ) ที่ ๕๕/๓๔ เรื่องแก้ไขอัตรากองบัญชาการทหารสูงสุด ให้สถาบันจิตวิทยาความมั่นคง สำนักงานสารนิเทศ สำนักผู้บัญชาการทหารสูงสุด กองบัญชาการทหารสูงสุด ขึ้นการบังคับบัญชากับสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กองบัญชาการกองทัพไทย ตั้งแต่วันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๓๔

หลักสูตรการปฏิบัติการจิตวิทยาฝ่ายอำนวยการ ได้มีการปรับปรุงเนื้อหาวิชามาอย่างต่อเนื่องตามความเหมาะสมสอดคล้องกับ สถานการณ์มาจนถึงปัจจุบัน เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๕ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (โดยเสนาธิการทหาร รับคำสั่ง) ได้อนุมัติให้เปลี่ยนชื่อหลักสูตรเป็นหลักสูตรจิตวิทยาความมั่นคง โดยมีการฝึกอบรมปีละ ๑ รุ่น ระยะเวลา ๒๒ สัปดาห์ และเพิ่มเติมเนื้อหาวิชาการปฏิบัติการข่าวสารในหลักสูตร และมีการฝึกร่วมกับวิทยาลัยเสนาธิการทหาร เพื่อนักศึกษามีความรู้ความเข้าใจในแนวคิดและสามารถกำหนดแนวทางการการ ปฏิบัติการข่าวสาร โดยมุ่งเน้นในเรื่องการปฏิบัติการจิตวิทยาและการประชาสัมพันธ์ ทั้งนี้สถาบันจิตวิทยาความมั่นคงมีความมุ่งหวังให้นักศึกษาสามารถนำแนวทาง ตามหลักสูตรไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและ ประสิทธิผลก่อให้เกิดความมั่นคงและประโยชน์ต่อประเทศไทยให้มากที่สุด


ปรัชญา วิสัยทัศน์ ปณิธาภารกิจ

ปรัชญา

การปฏิบัติการข่าวสาร นําพาสู่ความมั่นคงของชาติ

วิสัยทัศน์

เป็นองค์กรชั้นนำ ในการประศาสน์วิทยาการมุ่งสู่ความเป็นเลิศ ด้านการปฏิบัติการข่าวสาร เพื่อความมั่นคงของชาติ


ปณิธาน

มุ่งผลิตนักปฏิบัติการข่าวสาร ให้มีความรู้ ความเข้าใจ สามารถนําองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงของชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ภารกิจ

สถาบันจิตวิทยาความมั่นคง สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กองบัญชาการกองทัพไทย

มีภารกิจ ในการประศาสน์วิทยาการทางด้านสังคม จิตวิทยา สงครามการเมือง การปฏิบัติการข่าวสาร

แก่ข้าราชการทหาร ตํารวจ พลเรือน ตลอดจนพนักงานองค์กรรัฐ และบุคลากรอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย

ศึกษาวิจัยและพัฒนาหลักนิยมด้านสังคม จิตวิทยา สงครามการเมือง การปฏิบัติการข่าวสาร ให้เป็นประโยชน์

ต่อความมั่นคงแห่งชาติ โดยมีผู้อํานวยการสถาบันจิตวิทยาความมั่นคง เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ